คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ‘Green Investment Trust’ สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาด้านยั่งยืนของประเทศ และปรับปรุงเกณฑ์เพื่อเพิ่มมาตรการดูแลความเรียบร้อยในการซื้อขายหลักทรัพย์
ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักการในการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust : GIT) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์การลงทุนดังกล่าวสามารถรองรับและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมภาคป่าไม้หรือการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ของประเทศ
กองทรัสต์ GIT เป็นทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนและแสวงหาผลประโยชน์ในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกตามลักษณะที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ประกาศกำหนดเป็นหลัก ซึ่งจะรวมถึงนโยบายการลงทุนการจัดหาประโยชน์ และประเภทผู้ลงทุน ทั้งนี้ กองทรัสต์ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัว ของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ (private trust) หรือเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับทรัพย์สินหลักที่กำหนดให้กองทรัสต์ GIT ลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม มีดังนี้ (1) กรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าที่ดิน เฉพาะกิจกรรมในภาคป่าไม้และการเกษตร เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้เพียงพอตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ (2) สิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของโครงการตาม (1) โดยที่ดินต้องในอยู่ในประเทศไทย และอย่างน้อยต้องขึ้นทะเบียนในโครงการ Verified Carbon Standard กับ อบก. หรือมาตรฐานคาร์บอนเครดิตสากลอื่นที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะดำเนินการยกร่างประกาศเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม จากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อยกระดับการกำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายหลักทรัพย์ ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสนอ ได้แก่ (1) การกำหนดกรอบราคาแบบ Dynamic Price Band รายหลักทรัพย์ (2) การกำหนดวิธีการซื้อขายด้วยการจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว (Auction) สำหรับหลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป และ (3) การกำหนดมาตรการหยุดซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Auto Pause) รายหลักทรัพย์ กรณีมีปริมาณคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์สูงผิดปกติ
ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้เป็นการใช้มาตรการใหม่ทั้งหมด จึงเห็นควรให้ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการสื่อสารให้ผู้ลงทุนทราบก่อนเริ่มใช้มาตรการดังกล่าว และติดตามประสิทธิผลของการใช้บังคับหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุง เมื่อครบ 6 เดือนนับจากวันที่หลักเกณฑ์มีผลใช้บังคับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามาตรการที่ใช้มีความเหมาะสม และเอื้อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายหลักทรัพย์
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า “กองทรัสต์ GIT จะทำให้ตลาดทุนสามารถรองรับและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีความเหมาะสมสอดคล้องในทางปฏิบัติและมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นต่อผู้ที่ต้องการระดมทุน รวมถึงมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ ส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้ง 3 มาตรการ จะช่วยให้มีกลไกควบคุมความผันผวนของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างวันและป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการจับคู่ซื้อขายหลักทรัพย์ได้”
8092