หมวดหมู่: อบจ.

1ทวมพทยา


ไขปริศนา...ท่วม 'พัทยา-หัวหิน-ระยอง' จมเพราะอะไร?

    หลายคนเห็นภาพเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งธุรกิจที่สำคัญของประเทศ อย่าง พัทยา หัวหิน ระยอง คงจะสงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพียงแค่โดนพายุหว่ามก๋อถล่มในระยะเวลาไม่นาน แต่ผลกระทบกับรุนแรงเกินคาด

   นายวีรวัฒน์ ค้าขาย รองนายกเมืองพัทยา เล่าถึงสาเหตุว่า ในคราวนี้ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากและติดต่อกัน ประกอบกับพื้นที่รอบๆ เมืองพัทยา เทศบาลหนองปรือ หนองปลาไหล โป่ง ก็มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างเยอะและจะไหลลงมาร่วมในพื้นที่เมืองพัทยา

    เมืองพัทยาเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่าโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็จะระบายออกได้หมดคราวนี้ปริมาณน้ำฝนมากจึงใช้เวลานานกว่าปกติ

   อุปสรรคและปัญหาอีกอย่างมาจากขยะ รวมทั้งไฟฟ้าดับ และตู้คอนโทรล จะไปยกระดับให้สูงขึ้นให้ได้มากที่สุด

   ส่วนน้ำที่ไหลอย่างรวดเร็วเป็นเพราะน้ำทุกสายไหลมาจากทางหนองปรือ แล้วไหลลงรวมพัทยากันหมดทำให้น้ำแห่ไหลกันมา

    นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างตามพื้นที่เอกชน บางแห่งอาจเคยเป็นแหล่งพักน้ำ แต่เมื่อมีการก่อสร้างทำให้น้ำได้ไหลรวมกันจำนวนมากดังกล่าว

    สำหรับ แนวทางแก้ไขของเมืองพัทยาไม่ว่าจะเป็นแนวชายหาดพัทยา ทางเมืองพัทยากำลังดำเนินการสร้างท่อระบายน้ำ โดยบริเวณตรงดุสิตรีสอร์ทกำลังสร้างท่อขนาด 2 เมตร ลงไป 200 เมตร บริเวณปากซอย 6 กำลังสร้างท่อขนาด 2 เมตร ลงไป 235 เมตร หน้าปากทางวอล์คกิ้งสตรีทกำลังสร้างท่อบล็อกขนาด 2.5 เมตร จำนวน 2 บล็อก พยายามจะเร่งให้น้ำระบายลงทะเลให้เร็วที่สุด ตามสถานีต่างๆ ก็พยายามสร้างสตรอมตัวดูดน้ำให้เร็วที่สุด นอกจากนั้นทางเมืองพัทยากำลังสร้างแก้มลิงกักน้ำที่มาจากพื้นที่ด้านบนเพื่อระบายออกซ้ายขวา โดยให้มวลน้ำไหลผ่านเมืองพัทยาให้น้อยที่สุด

   นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.หัวหิน เมืองชายทะเลเกิดจากความเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองท่องเที่ยวมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการปลูกสร้างบ้านพักอาศัย โรงแรม คอนโดมิเนียมในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ทำให้ผิวถนนในบางชุมชมมีระดับต่ำกว่าพื้นที่ของเอกชนจากการปรับสภาพพื้นที่ และเมื่อมีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมากทำให้ถนนต่างๆ กลายเป็นพื้นที่รับน้ำ

   นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าฯระยอง กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ ต.ทับมา และ ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง ที่ผ่านมาว่า พื้นที่ตำบลทับมามีสภาพเป็นที่ลุ่มเป็นที่รับน้ำ มักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมทุกปี แต่ปีนี้มีฝนตกหนักมากกว่าทุกปีและตกติดต่อกัน 2-3 วัน ทำให้ปีนี้เกิดภาวะน้ำท่วมมากกว่าทุกปีและระบายน้ำได้ช้า

   ทั้งนี้ มาจากหลายสาเหตุ

    ประการแรกปีนี้บริเวณร่องของฝนที่ตกในพื้นที่ จ.ระยอง ค่อนข้างมากมีปริมาณน้ำฝนวันละ 100 กว่ามิลลิเมตรต่อวันมากกว่าทุกปี ทำให้การระบายน้ำได้ช้า

    ประการที่สอง หลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ในเขต อ.เมืองระยอง มีการเจริญเติบโตในด้านสิ่งปลูกสร้างค่อนข้างมาก ทำให้การไหลผ่านของน้ำไหลช้าลง

      ประการที่สาม ช่วงที่เกิดฝนตกหนักเป็นช่วงเวลาน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำระบายออกสู่ทะเลได้ช้าลง เป็นต้น

      สาเหตุน้ำท่วมใน ต.ทับมา ส่วนใหญ่คือโครงการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นจำนวนมาก ในอดีตพื้นที่ ต.ทับมา ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว เป็นที่ลุ่มและเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่ไปใช้ประโยชน์จากที่ดินผิดจากธรรมชาติของพื้นที่เดิม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ต.ทับมา ในระยะยาวปี 2559 ปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะเบาบางกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากกรมชลประทานได้อนุมัติงบประมาณให้โครงการชลประทานระยองจัดตั้งสถานีสูบน้ำไฟฟ้าบริเวณคอสะพานใกล้สี่แยกเกาะกลอยเพื่อสูบน้ำออกสู่ทะเลได้อีกทางหนึ่ง

    นายประสานต์ พฤกษาชาติ ผอ.โครงการชลประทาน จ.ระยอง กล่าวว่า การป้องกันน้ำท่วมในปีงบประมาณ 2559 จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณคอสะพานใกล้สี่แยกเกาะกลอยปลายคลองทับมางบประมาณ 143 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2559-2560 จะบรรเทาความเดือดร้อนได้มากทีเดียว ขณะเดียวกันบริเวณคอสะพานจะตั้งสถานีสูบน้ำไฟฟ้า หลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วจะต้องพูดคุยกันหลายหน่วยงาน อาทิ ที่ดิน ชลประทาน เทศบาลนครระยอง ฯลฯ การแก้ไขปัญหาจะพูดคุยกับเจ้าของที่ดิน เพื่อขอใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าว โดยการสร้างอาคารป้องกันการกัดเซาะ หากเจ้าของที่ดินยินยอมจะระบายน้ำได้เร็วขึ้น ปัญหาระบายน้ำช้าเพราะติดอยู่คอสะพานเป็นคอขวด หากตั้งสถานีสูบน้ำได้ในปีต่อไปปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็จะเบาบางลงได้มาก

    นายประเสริฐ วงษ์ศรี นายกเทศมนตรี ต.ทับมา กล่าวว่า พื้นที่ในความรับผิดชอบรวมทั้งสิ้น 29.24 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่น้ำท่วมบริเวณหมู่ 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 8 หมู่บ้านดังกล่าวเป็นที่ตั้งโครงการหมู่บ้านจัดสรรรวมทั้งสิ้น 30 โครงการ แต่ในพื้นที่มีโครงการหมู่บ้านจัดสรรรวมทั้งสิ้น 100 กว่าโครงการ จากการสำรวจผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 5,800 ครัวเรือน

   สาเหตุน้ำท่วมเป็นเพราะว่าเดิมพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ปัจจุบันมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นจำนวนมาก

   นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กล่าวว่า พัทยา ชลบุรี และตัวเมืองระยอง เมื่อมีฝนตกลงมาแล้ว ระบายน้ำได้ช้ามาก สาเหตุหลักๆ ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ต้องเจอกับสภาพน้ำท่วมขังเป็นประจำเมื่อเกิดฝนตกหนัก นั่นคือตัวถนนถูกสร้างให้ยกสูงขึ้นมาก คลองระบายน้ำถูกถม เส้นทางไหลผ่านของน้ำ กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือสิ่งก่อสร้าง ขวางทางน้ำไหล

  นอกจากนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์สตอร์มเสิร์จ หรือน้ำทะเลยกตัวสูงมาก ตั้งแต่ชายหาดระยอง มาถึงชายหาดพัทยา เข้ามาเป็นปัจจัยเสริมซ้ำทำให้ไม่สามารถระบายน้ำลงทะเลได้ หรือได้แต่น้อย และช้ามาก เหตุการณ์นี้เหมือนกับตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯเมื่อปี 2554 ตอนนั้นน้ำทะเลชายหาดชลบุรีก็ยกตัวสูงในลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน

  สำหรับ หนทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้นั้น ผู้อำนวยการ สสนก.กล่าวว่า กรณี จ.ระยองนั้น การระบายน้ำ ชาวบ้านใช้ระบบฝายชั่วคราว การพร่องน้ำเข้าออกใช้กระสอบทรายเป็นหลัก แต่ทราบว่าเวลานี้กรมชลประทานได้สร้างฝายแบบที่มีประตู เปิดปิดได้ตามสภาพน้ำแล้ว คาดการณ์ว่าปีหน้าจะใช้การได้ปัญหานี้น่าจะเบาบางลง ส่วนที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และที่พัทยานั้น หลักๆ ต้องแก้ที่ระบบผังเมืองและเส้นทางระบายน้ำ

  "ทั้งพัทยา และหัวหินติดทะเล การระบายน้ำต้องเอาน้ำออกชายหาดให้เร็วที่สุด เวลานี้ทั้ง 2 ที่มีท่ออยู่แล้ว แต่เป็นท่อน้ำเสีย หากน้ำมาไม่มากก็ระบายน้ำกับท่อน้ำเสียได้ แต่กรณี 2 พื้นที่นี้น้ำมามาก และไม่สามารถเอาน้ำฝน เป็นน้ำดี ไปรวมกับน้ำเสียในท่อ ออกไปทิ้งชายหาดได้ ครั้นจะสร้างท่อเพื่อระบายน้ำเฉพาะฝนลงทะเล ก็เป็นเรื่องใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมากมหาศาล ไม่คุ้มค่า หากจะทำเพื่อแก้ปัญหานี้ปีละ 1-2 ครั้ง วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ ปรับระดับถนน เพื่อให้เป็นเส้นทางไหลของน้ำลงสู่ชายหาด ทำได้ไม่ยากและระบายน้ำได้เร็วที่สุด" นายรอยลกล่าว

   ผู้อำนวยการ สสนก.บอกว่า กรณี จ.ประจวบฯ ก่อนหน้านี้ฝนตกหนักที่เขาหินเหล็กไฟ น้ำบ่าผ่านมาทางสถานีตำรวจ แล้วไปเข้าคลองชลประทาน น้ำไปออกเขาตะเกียบ หากไม่มีการขุดคลองระบายน้ำ น้ำก็จะบ่าเข้าเมืองเลย แต่กรณีน้ำบ่าเข้าเมือง ถ้าทำถนนให้อยู่ในระดับเดียวกับน้ำได้คือ ทำถนนให้ต่ำลงมาอีก ก็ระบายน้ำจากถนนออกชายหาดได้ทันที

   พัทยาก็เช่นเดียวกัน ไม่คุ้มค่าหากจะทำท่อระบายน้ำฝน เพื่อเอาน้ำดีลงทะเล ควรปรับระดับถนนลง เพื่อให้เป็นทางไหลของน้ำ จะระบายน้ำได้เร็วที่สุด

   อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวต้องทำควบคู่ไปกับการคาดคะเนปริมาณน้ำฝนจะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง รวมกับการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมด้วย

                มติชนออนไลน์ : วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!