หมวดหมู่: บทความการเงิน

PwC Somboon


PwC แนะผู้ประกอบการเตรียมพร้อมด้านกฎหมายและภาษีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

      PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจวางแผนด้านกฎหมายและภาษีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล หลังกรมสรรพากรมีการยกร่างแก้ไขกฎหมายภาษีหลายฉบับ อาทิ ร่างกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอนที่กำลังจะประกาศใช้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้ รวมทั้งร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อปูทางไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ชี้ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามการบริหารความเสี่ยงด้านกฎหมายและภาษีที่เกิดจากการควบรวมกิจการเพื่อขยายขนาดของธุรกิจ ระบุหากมีการวางแผนด้านกฎหมายและภาษีที่ดี จะช่วยให้กิจการไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

    นาย สมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2018 ในหัวข้อ ‘บริหารความท้าทาย เตรียมความพร้อมองค์กรสู่การเติบโต’ (Managing challenges to unleash corporate growth) ว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านองค์กร บุคลากร และแผนกลยุทธ์ เพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งยังต้องเตรียมรับมือกับข้อกฎหมายและภาษีอากรของภาครัฐ ที่ปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing Provisions) ที่กำลังจะประกาศใช้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้ และร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังต้องบริหารความเสี่ยงทางกฎหมายและภาษีอากรที่เกิดจากการขยายตัวของภาคธุรกิจอย่างรวดเร็วในรูปแบบของการควบรวมกิจการทั้งในและนอกประเทศ และความเสี่ยงทางภาษีที่เกี่ยวข้อง หากผู้ประกอบกิจการมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม

     “หากธุรกิจไทยมีความพร้อมและสามารถปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น การเข้ามาของดิจิทัล กฎระเบียบ ทั้งข้อกฎหมาย ภาษีอาการ มาตรฐานการบัญชี หรือแม้กระทั่งคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

     ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยปัจจุบัน กรมสรรพากรเองในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษีได้วางเป้าหมายในการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ตามแผนโรดแมประยะ 5 ปี (ระหว่างปี 2559-2563) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการบริหารการจัดเก็บภาษีให้มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภาษีอากรต่างๆ เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีของไทยสอดคล้องกับนโยบายการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศในระดับสากล

      สำหรับ แนวทางและเป้าหมายของกรมสรรพากรนั้น ได้สะท้อนผ่านการยกร่างแก้ไขกฎหมายภาษีหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ร่างกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและได้รับการกล่าวถึงจากผู้ประกอบการมากที่สุดในเวลานี้ โดยที่มาของกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของภาครัฐเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล อันเป็นผลพวงจากการที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกรอบความตกลงร่วมมือการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) เป็นผลให้ไทยต้องยอมรับข้อผูกพันในการรับหลักการบางหลักการมาปรับใช้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มาตรการป้องกันการตั้งราคาโอนนั่นเอง

       ปัจจุบันร่างกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างรอประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและมีการทำธุรกรรมกับบริษัทในเครือ ต้องจัดทำรายการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมการตั้งราคาโอนให้แก่กรมสรรพากร

      ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการตั้งราคาโอนและกฎระเบียบต่างๆ ที่กำลังจะออกมา เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมความพร้อมในการจัดเตรียมเอกสารพิสูจน์ราคาโอน อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินและบริหารความเสี่ยงทางภาษีที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบในอนาคตได้  

      “การเตรียมพร้อมสำหรับกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องตื่นตัว เพราะหากเตรียมพร้อมไม่ดีพอ และรอให้กรมสรรพากรเข้าตรวจสอบประเด็นราคาโอนแล้วจึงค่อยหาทางแก้ไข จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น แต่หากมีการเตรียมตัววางแผนล่วงหน้า นั่นจะทำให้เราทราบถึงทิศทางและกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงทางภาษีได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง” นาย สมบูรณ์ กล่าว

        นอกจากนี้ การปฏิบัติตามกฎหมาย (Legal compliance) ของผู้ประกอบการ ยังถือเป็นประเด็นที่ภาครัฐให้ความสำคัญ เนื่องจากการประกอบกิจการบางอย่างอาจมีข้อสงสัยว่า ได้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กฎหมายกำหนดไว้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายอื่นๆ ซึ่งบทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจต้องสะดุด หรือหยุดชะงักได้

      ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลก่อให้เกิดความเสี่ยงจากข้อกฎหมายและระเบียบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก บริษัทจึงควรทำความเข้าใจและศึกษาถึงข้อกฎหมาย รวมทั้งแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ. ธุรกรรมออนไลน์ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบงานในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบัน

      นาย สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับข้อกฎหมายและภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องบริหารความเสี่ยงทางกฎหมายและภาษีอากรที่เกิดจากแผนการขยายตัวธุรกิจในรูปแบบการควบรวมกิจการทั้งในและนอกประเทศ การซื้อขายหุ้น (Share Deal) หรือ การซื้อขายทรัพย์สิน (Asset Deal) ซึ่งเป็นกลยุทธ์รูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมของธุรกิจในปัจจุบัน เพราะช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการ ขยายฐานลูกค้า ลดต้นทุนและการแข่งขันทางอ้อม อีกทั้งช่วยยกระดับความสามารถในการเพิ่มรายได้และกระแสเงินสด อย่างไรก็ดี แม้วิธีนี้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในทางอ้อม แต่หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านกฎหมายหรือภาษีอากรที่ดีเพียงพอ ก็อาจนำมาซึ่งภาระภาษี ความเสี่ยงทางกฎหมายและภาษีที่ติดมากับบริษัทเดิม ทำให้ต้องมาแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นได้

    นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับภาษีอากรที่ผู้ประกอบการต้องเร่งทำความเข้าใจ คือ ภาระภาษีที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกรรมทางการค้า (Business Model) จากรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึง การจ่ายค่าตอบแทนไปให้บริษัทในเครือที่ต่างประเทศ หรือ รูปแบบเงินได้ที่จ่ายออกไปนั้นว่าเป็นการจ่ายในรูปแบบใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกฎหมายภาษีในประเด็นต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการลงรายจ่ายในการภาษี การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะหากไม่ปฏิบัติตาม ผลกระทบที่ตามมาจากบทลงโทษของหน่วยงานกำกับก็อาจทำให้กิจการหยุดชะงักได้

เกี่ยวกับ PwC?

        ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 250,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 59 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในประเทศไทย

         PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

       ? 2018 PwC. All rights reserved

         

Click Donate Support Web

468x60 16

BIT FUN728x90

yobit 560 60

8

468x60 bit

468x60 DOG

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!